Last updated: 10 Jun 2024 | 542 Views |
วิธีการเลือกซื้อผัก ให้ปลอดภัย ต้องดูอะไรบ้าง ?
ผัก เป็นแหล่งอาหารที่เต็มไปด้วยสารอาหารสำคัญคือวิตามินและเกลือแร่ มีกากใยช่วยทำความสะอาดลำไส้ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพมากที่สุด คนเราจึงนิยมนำผักมารับประทานและประกอบอาหารในทุกมื้อ วิธีการเลือกซื้อผักสด จึงเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่เราควรรู้ติดตัวไว้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีและให้เราได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนที่สุดค่ะ
วันนี้ เราจะขอแบ่ง วิธีการเลือกซื้อผักสด ออกเป็นข้อ ๆ ให้ทุกคนได้เข้าใจง่าย และโฟกัสได้ถูกจุดที่แต่ละคนต้องการกันค่ะ
1) วิธีการเลือกซื้อผัก ตามชนิดของผัก
การแบ่งผักออกเป็นแต่ละประเภทตามลักษณะภายนอกของผัก เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสังเกตและจำแนกได้ง่ายที่สุด การเลือกซื้อผักสด ตามชนิดของผักจึงทำได้ตามนี้ค่ะ
วิธีเลือกผัก ใบเขียว
เมื่อพูดถึงผัก แน่นอนว่าต้องนึกถึงสีเขียวก่อนเป็นอันดับแรกเลยใช่มั้ยคะ ?
ผักใบเขียว เป็นผักที่เต็มไปด้วยวิตามิน A , C , K คอยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย มีใยอาหารสูงมาก ช่วยเรื่องการย่อยอาหาร และแคลอรี่ต่ำ ตัวอย่างของผักใบเขียวที่ได้รับความนิยม ก็อย่างเช่น คะน้า ผักบุ้ง บล็อกโคลี กะหล่ำปลี ตำลึง กวางตุ้ง
การเลือกซื้อผักใบเขียวก็ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ
เลือกซื้อผักใบเขียวที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีรู ไม่มีรอยแตก รอยเน่า รอยด่างหรือมีจุดดำตามใบ เลือกผักที่มีสีเขียวสด ไม่ซีด ไม่เหี่ยว จึงจะน่ารับประทาน
ไม่มีร่องรอยของแมลง แม้การมีแมลงมากัดกิน แสดงถึงความสดไร้สารเคมีของผักก็จริงอยู่ แต่ก่อนจะซื้อควรเช็คให้ดีนะคะว่ามีแมลงเกาะอยู่มั้ย หรือไม่มีรอยการทำลายโดยแมลง เพราะจะทำให้ผักเสื่อมประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอกได้ไว
ไม่มีกลิ่นเน่า กลิ่นเหม็นที่แปลกไปจากกลิ่นเดิมของผักชนิดนั้น ๆ
เลือกซื้อผักปลอดสารพิษ อาจดูจากแหล่งที่ปลูก วิธีการปลูกผักว่าไม่มีการใช้สารเคมี หรือเลือกซื้อผักจากแหล่งขายผักออแกนิคก็จะดีที่สุดค่ะ
วิธีเลือกผัก ที่เป็นผล
ผักชนิดนี้ได้แก่ แตงกวา ฟักเขียว ฟักทอง ถั่วฝักยาว บวบ ข้าวโพดฝักอ่อน หรือผักจำพวกมะเขือต่าง ๆ อย่าง มะเขือเปราะ มะเขือพวง มะเขือเทศ ก็เป็นผักที่เป็นผลทั้งหมดค่ะ
การเลือกซื้อผัก ที่เป็นผล มีข้อสังเกตตามนี้ค่ะ
เลือกผลที่แข็งแรง ไม่อ่อน สีสดไม่หมองเกินไป เช่น มะเขือเทศควรจะมีสีส้มอมแดงที่ดูน่าทาน หรือ ฟักทอง ที่ต้องมีสีเหลืองอมเขียวไล่ไปสีเขียวขี้ม้าไปจนถึงขั้วจุก
ไม่มีร่องรอยความเสียหาย รอยแตก รอยโรคและรอยของแมลง หรือมีคราบดำที่ผิวของผัก
องค์ประกอบของผลยังสมบูรณ์ ไม่มีชิ้นส่วนใดที่ขาดหรือหายไป เช่น มะเขือที่จะมีขั้วติดมากับผล
ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นออกมาจากผล
วิธีเลือกผัก ที่เป็นหัว
ผักที่เป็นหัว คือ เราจะนำส่วนหัวที่ปลูกไว้ใต้ดิน ขุดขึ้นมาเป็นอาหาร จะมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของมันใต้ดิน ตัวอย่างของผักชนิดนี้ คือ กระเทียม เผือก หอม หัวไชเท้า และมันต่าง ๆ อย่าง มันเทศ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง
การเลือกซื้อผัก ที่เป็นหัว สามารถทำตามได้ดังนี้
มีน้ำหนัก ไม่เบาจนเกินไป เพราะจะแสดงถึงเนื้อที่แน่น ไม่กลวง
เลือกหัวที่มีสีตรงกับผักชนิดนั้น ไม่มีสีอื่นปะปน เช่น มันฝรั่งที่มีจุดเขียว จะมีสารอัลคาลอยด์ได้ และควรเลือกหัวที่ไม่มีจุดดำหรือหัวที่มีสีซีดเกินไป
เลือกหัวที่มีสภาพภายนอกที่สมบูรณ์ แข็งแรง กดแล้วเนื้อไม่ยุบ
เช็คว่าไม่มีรอยเสียหายจากการเก็บเกี่ยวด้วยอุปกรณ์ใด ๆ หรือรอยแมลงกัดแทะ
2) วิธีการเลือกซื้อผัก ตามขนาดและสี
วิธีการนี้จะเน้นไปที่การบริโภคเป็นหลักเลยค่ะ ว่าเราอยากจะนำผักไปใช้ทำอะไรและต้องใช้ในปริมาณเท่าไหร่ เพื่อให้คุ้มค่ากับการซื้อและใช้ให้ตรงวัตถุประสงค์ที่สุด
การเลือกซื้อผัก ตามขนาด
อย่างที่บอกไปค่ะ ว่าควรเลือกผักที่มีขนาดเหมาะสมกับความต้องการที่จะใช้งานของเราให้มากที่สุด เช่น ผักที่มีขนาดเล็ก จะมีเนื้อน้อยและผิว/เปลือกบาง เหมาะกับการนำมาตกแต่งหรือหั่นทำอาหารที่สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก ส่วนผักขนาดใหญ่จะมีเนื้อที่หนากว่า เยอะกว่า เปลือกแข็งกว่า เหมาะกับการที่จะนำมาหั่นเป็นชิ้นและทำอาหารในปริมาณมาก
การเลือกซื้อผัก ตามสี
สีสันของผักแต่ละชนิด ก็ทำให้อาหารดูน่ารับประทานขึ้นหลายเท่า การเลือกซื้อผักตามสีจึงควรเลือกสีที่ตรงตามชนิดของผักนั้น ๆ และมีสีสด ไม่ซีดเกินไปและสดจนเกินจริง เพราะผักบางชนิดที่สีสดเกินไป อาจปนเปื้อนสารเคมี ส่งผลเสียต่อร่างกายได้
3) วิธีการเลือกซื้อผัก ตามฤดูกาล
เพื่อให้ได้ผักที่สดจริง ไม่ผ่านการฟรีซเพื่อลดสารอาหารที่ควรจะได้รับ การเลือกซื้อผักตามฤดูกาลจึงดีที่สุด และมีราคาไม่แพงด้วย ผักตามฤดูกาลของไทยจะแบ่งได้ตามนี้
ฤดูร้อน ( ช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม )
จะเป็นผักที่ทนความร้อน ความแล้ง และสามารถปลูกโดยใช้น้ำน้อย เช่น แตงกวา คะน้า ผักหวาน ฟักทอง มะระ มันฝรั่ง เห็ดฟาง กระเทียม สะตอ
ฤดูฝน ( ช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน )
เป็นผักที่ทนน้ำ ใช้น้ำมาก หรือโตได้ดีในที่ที่ใช้น้ำ เช่น ชะอม ตำลึง ผักบุ้ง ผักโขม สายบัว ฟักเขียว ข้าวโพด ขิง ข่า ใบบัวบก มะนาว
ฤดูหนาว ( ช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ )
ส่วนมากจะเป็นผักที่กินใบ และเป็นผักที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศหนาว เช่น กะหล่ำปลี ผักกระเฉด ถั่วแระญี่ปุ่น ผักกาดขาว พริก บล็อกโคลี
การเลือกซื้อผักให้ปลอดภัย โดยใช้หลักการเลือกตามที่ได้บอกไปในบทความนี้ จะทำให้เราได้ผักที่ดีที่สุด สดใหม่ และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนที่สุดในทุกมื้ออาหาร เมื่อเรารับสารอาหารที่ดีเข้าสู่ร่างกาย สุขภาพของเราก็จะดีตามไปด้วยนะคะ
11 Oct 2024
11 Oct 2024
27 Sep 2024